ตะกร้า
Language:
ปิด
Language:

การดูแลจิตใจลูกน้อย หลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่รุนแรง

โรคหรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง รวมถึงอันตรายต่างๆ ที่วงการแพทย์เรียกว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder) คือ สภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ที่ไม่คาดฝัน สถานการณ์อันตรายที่คุกคามต่อชีวิตของผู้นั้นหรือคนอื่นๆ ทั้งที่ต้องตกเป็นผู้เผชิญกับเหตุการณ์เองโดยตรง หรืออาจได้เห็นเป็นพยานรับรู้ในเหตุการณ์ดังกล่าว 

 

ปัจจัยที่บ่งบอกได้ว่าเด็กๆ อาจอยู่ในภาวะ PTSD

  • ความรุนแรงที่ได้รับ
  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความหมายต่อผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน
  • ความยาวนานของระยะเวลาที่ประสบเหตุการณ์
  • บุคลิกและวิธีการเผชิญต่อสภาวะความเครียดผู้ป่วยเอง
  • อายุเด็ก
  • ประสบการณ์เก่าที่เคยมีมาก่อน
  • สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
  • การขาดการสนับสนุนจากสังคมรอบข้าง
  • เด็กต้องเผชิญกับความยากลำบากทางด้านจิตใจสังคมอย่างต่อเนื่อง
  • สุขภาพจิตของพ่อแม่ของเด็กที่แสดงออกถึงความวิตกกังวล ซึมเศร้าหลังเกิดเหตุการณ์มีส่วนสำคัญต่อการเกิด PTSD ในเด็ก ได้ รวมถึงการที่พ่อแม่ไม่สนับสนุน ไม่ให้กำลังใจ ไม่เป็นมิตรกับเด็ก การเลี้ยงดูแบบบังคับ

วิธีการรักษา PTSD 

การรักษาทางด้านจิตใจ ประกอบด้วย

  1. Trauma-Focused Cognitive Therapy  สำรวจและพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแนะนำวิธีการให้รู้สึกผ่อนคลายกับการเผชิญสิ่งที่ทำให้ตื่นกลัว ปรับเปลี่ยนความเชื่อและความคิดบิดเบือนเกี่ยวกับอาการหรือเหตุการณ์ครั้งนั้น ฝึกให้ควบคุมความรู้สึกนึกคิดและรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้ โดยมีผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจโดยการให้ความรู้ผู้ปกครองกับเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เด็กพบเจอและปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ รวมทั้งให้ทักษะผู้ปกครองในการช่วยปรับพฤติกรรมแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กอย่างถูกต้อง


  2. Cognitive-Behavior Therapy (CBT) การทำจิตบำบัดรายบุคคล

พ่อแม่มีส่วนร่วมในการบำบัดรักษา Child-Parental Psychotherapy ,Family Therapy ถือเป็นการร่วมสำรวจแก้ไขจิตใจ อารมณ์ และหาวิธีการที่เหมาะสมที่พ่อแม่จะสามารถช่วยเด็กได้

เปลี่ยนแปลงและแก้ไขสิ่งแวดล้อม คือ การให้ความรู้กับครู พ่อแม่ ผู้ป่วยเด็ก รวมถึงผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโรค PTSD ในทาง จิตเวชเด็ก โดยการร่วมพยากรณ์โรค การวางแผนให้ครอบครัวได้กลับพบกันและอยู่ด้วยกันโดยเร็ว การจัดกิจกรรมในโรงเรียนให้เด็กเข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด การจัดที่อยู่อาศัยให้มั่นคงปลอดภัย มีระบบการป้องกันการเกิดภัยพิบัติซ้ำ รวมถึงการฟื้นฟูชุมชน

 

เมื่อลูกน้อยต้องพบเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายอย่างไม่คาดคิด อยู่กับสิ่งเหล่านั้นในระยะเวลานานๆ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจขั้นรุนแรง ส่งผลให้ลูกน้อยฝังใจ ทำให้เกิดอาการป่วยทางจิตได้สุขภาพจิตของพ่อแม่ของลูกน้อยที่แสดงออกถึงความวิตกกังวล ซึมเศร้าหลังเกิดเหตุการณ์มีส่วนสำคัญต่อการเกิด PTSD ในลูกน้อยได้

ข้อแนะนำในทาง จิตเวชเมื่อเกิดอาการ PTSD ในลูกน้อย

  • ให้ความสำคัญในการตอบสนอง ให้กำลังใจลูกน้อย รับฟัง ปลอบโยน ทำให้ลูกน้อยรู้สึกมั่นใจถึงความปลอดภัย ให้เขามั่นใจว่าเค้ามีผู้ดูแล ปกป้องและมีที่พึ่ง
  • หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ที่ไม่มีผลต่อการรักษา หรือการสัมภาษณ์เพื่อการนำเสนอข่าว
  • ไม่ให้ลูกน้อยต้องคอยเล่าเรื่องซ้ำๆ
  • ไม่พูดจาซ้ำเติมในเชิงตำหนิให้ลูกน้อยรู้สึกผิด แต่เปิดโอกาสให้ลูกน้อยพูดคุยในส่วนที่ลูกน้อยอยากจะพูดคุยและความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุการณ์
  • พยายามให้ลูกน้อยได้ทำกิจกรรมตามปกติ เพื่อค่อยๆ ให้ลูกน้อยได้กลับสู่สภาพเดิม โดยมีผู้ใหญ่หรือพ่อแม่คอยดูแลให้กำลังใจอยู่เสมอ เพราะผู้ปกครองถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาอาการหรือโรคจากเหตุการณ์นั้นๆ ได้ดี